เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 9. นารทพุทธวงศ์
จากนั้น พระองค์ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่
จักทำประทักษิณโพธิมัณฑ์อันยอดเยี่ยมแล้ว
ตรัสรู้ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์
พระมารดาผู้ให้กำเนิดพระชินเจ้าพระองค์นี้
จักมีพระนามว่ามายา
พระบิดาจักมีพระนามว่าสุทโธทนะ
พระชินเจ้าพระองค์นี้จักมีพระนามว่าโคดม
พระโกลิตเถระและพระอุปติสสเถระ
ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ
ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวก
พระเถระนามว่าอานนท์ จักเป็นพระอุปัฏฐาก
บำรุงพระชินเจ้าพระองค์นี้
พระเขมาเถรีและพระอุบลวรรณาเถรี
ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ
ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวิกา
ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ชาวโลกเรียกว่า ต้นอัสสัตถพฤกษ์
จิตตคหบดีอุบาสกและหัตถกคหบดีอุบาสก
ชาวเมืองอาฬวีจักเป็นอัครอุปัฏฐาก
นันทมารดาอุบาสิกาและอุตตราอุบาสิกา
จักเป็นอัครอุปัฏฐายิกา
พระโคดมผู้มียศพระองค์นั้นจักมีพระชนมายุประมาณ 100 ปี
เทวดาและมนุษย์ ได้ฟังพระดำรัสนี้
ของพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว
ต่างก็มีความชื่นชมกล่าวว่า
‘ท่านผู้นี้เป็นหน่อพุทธางกูร’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :636 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 9. นารทพุทธวงศ์
สัตว์ทั้งหลายในหมื่นจักรวาลพร้อมทั้งเทวดา
ต่างก็เปล่งเสียงโห่ร้องปรบมือ ร่าเริง
ประนมมือนมัสการว่า
‘ถ้าเราทั้งหลายจักพลาดศาสนาของพระโลกนาถพระองค์นี้
เราทั้งหลายก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล
มนุษย์ทั้งหลายเมื่อจะข้ามแม่น้ำ พลาดท่าเฉพาะหน้าแล้ว
ก็ยึดเอาท่าถัดไปจึงข้ามแม่น้ำใหญ่ไป ฉันใด
เราทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ถ้าพลาดพระชินเจ้าพระองค์นี้
ก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล’
[17] เราได้ฟังพระดำรัสของพระพุทธเจ้าแม้พระองค์นั้นแล้ว
ก็ทำใจให้ยินดีอย่างยิ่ง
ได้อธิษฐานวัตรเพื่อบำเพ็ญบารมี 10 ประการให้ยิ่งขึ้นไป
[18] กรุงชื่อว่าธัญญวดี กษัตริย์พระนามว่าสุเทพ เป็นพระชนก
พระเทวีพระนามว่าอโนมา เป็นพระชนนี
ของพระพุทธเจ้าพระนามว่านารทะ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[19] พระองค์ทรงครองฆราวาสอยู่ 9,000 ปี
มีปราสาทที่อุดมอยู่ 3 หลัง
คือชิตปราสาท วิชิตปราสาท และอภิรามปราสาท
[20] มีนางสนมกำนัล 43,000 นาง
ล้วนประดับประดาสวยงาม
พระมเหสีพระนามว่าวิชิตเสนา
พระราชโอรสพระนามว่านันทุตตระ
[21] พระองค์ผู้เป็นผู้สูงสุดแห่งบุรุษ ทรงเห็นนิมิต 4 ประการ
จึงเสด็จออกผนวชด้วยการเดินเท้า
บำเพ็ญเพียรอยู่ 7 วัน(จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :637 }